สวนข้างชุมชนหลังวัดหัวลำโพง ตั้งอยู่บนเส้นทางลัดซึ่งเชื่อมต่อสามย่านและสีลม จากกระบวนการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน นักเรียน ธุรกิจโดยรอบ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงตกลงร่วมกันให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ศาลาและลานกิจกรรมแบบต่าง ๆ สำหรับคนหลากหลายกลุ่ม ทั้ง ศาลาข้างบ้าน ศาลาการบ้าน ศาลาชิงช้า ศาลาต้นไม้ ศาลาสุขภาพ ลานเนินข้างบ้าน ลานข้างบ้าน ลานพบปะ ลานสนุก และลานนวดเท้า ที่แทรกอยู่ระหว่างต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ที่ให้ร่มเงา ให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ จากสมุนไพร และยังเป็นที่อาศัยหากินของสัตว์เล็ก ๆ ในเมืองใหญ่ — สวนว้ดหัวลำโพงเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือของหลายฝ่าย เริ่มตั้งแต่เอกชนบริจาคที่่ดินให้กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง สาธารณะร่วมสนับสนุนงบเครื่องเล่น เครื่องใช้ในสวน ผ่านแพลตฟอร์มระดมทุนเทใจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนกระบวนการ และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือชุมชนโดยรอบที่อาสาร่วมดูแลพื้นที่นี้ ทำให้สวนข้างบ้านกลายเป็นพื้นที่แรกภายใต้โครงการ we!park ที่ได้รับการพัฒนาจนเกิดเป็นพื้นที่รูปธรรม
พื้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนวัดหัวลำโพง และใกล้ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ สามย่าน-สุรวงศ์-สีลม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร โดยที่ดินได้รับบริจาคจากประชาชนเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ
บริเวณโดยรอบมีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า วัด (วัดหัวลำโพง) โรงเรียน ถัดออกมาในระแวกใกล้เคียงยังมีโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (จามจุรีสแควร์ สามย่านมิตรทาวน์) และมหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เส้นทางหน้าพื้นที่โครงการเป็นทางเชื่อมระหว่างสามย่าน-สุรวงศ์ จึงถูกใช้เป็นเส้นทางลัดของชุมชน พนักงาน นักเรียน และนักศึกษา ประกอบกับการที่มีสถานีรถไฟใต้ดิน (สถานีสามย่าน) ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทางเข้าสู่เส้นทางลัดฝั่งสามย่านจึงทำให้เส้นทางยิ่งมีความพลุกพล่าน
ก่อนการพัฒนา คนโดยรอบสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะ 400 เมตรได้เกือบทั้งหมด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งทิศเหนือของถนนพระรามที่ 4 ทำให้ชุมชนที่อยู่ฝั่งทิศใต้ต้องข้ามถนน และก็อาจจะไม่ใช่สวนที่ตรงความต้องการชุมชน ขณะที่สวนลุมพินีก็อยู่ไกลถัดไป จึงเป็นโอกาสของพื้นที่นี้ที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนโดยรอบวัดหัวลำโพงและย่านสุรวงศ์
ประชากรตามทะเบียนส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน รวมทั้งผู้สูงอายุก็มีไม่น้อยในพื้นที่ เช่น ชุมชนหลังวัดหัวลำโพง คอนโดมิเนียม และที่อยู่อาศัยโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเส้นทางลัดของย่าน จึงมีผู้ที่เข้ามาทำงาน มาเรียนหนังสือ มาท่องเที่ยว หรือสัญจรผ่านพื้นที่นี้หลากหลายกลุ่ม
พื้นที่ซอยหน้าวัดหัวลำโพง เป็นพื้นที่แรกของที่เราได้พื้นที่มาจากกรุงเทพมหานคร ในฐานะภาคีเครือข่าย Green Bangkok 2030 โดยเราได้วิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการของผู้คนในพื้นที่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเห็นความสำคัญร่วมกัน ในกระบวนการออกแบบวางแผน เราได้เริ่มทดลองใช้เวิร์คชอปร่วมกับนิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ เพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ หลังจากนั้น บริษัทภูมิสถาปนิก ฉมา โซเอ็น ในฐานะภาควิชาชีพ ร่วมกับทีมสนใจ ทำกระบวนการออกแบบพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน โรงเรียน วัด โรงแรม ธุรกิจโดยรอบ เขตบางรัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันคิดแนวทางการออกแบบพื้นที่ โดยเราได้ทดลองสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ให้ทุกคนเห็นภาพและความสำคัญร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการทดลองการมีส่วนร่วมในขั้นก่อนการก่อสร้างสู่สาธารณะโดยการเปิดระดมทุนออนไลน์ ผ่านแพชตฟอร์มเทใจ สำหรับเป็นค่าของเล่นของใช้ในพื้นที่ และเพื่อให้พื้นที่มีการใช้งานได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เราได้มีการพูดคุยค้นหาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่หลังสร้างเสร็จ โดยชุมชนอยู่อาศัยติดกับพื้นที่ได้อาสาในการช่วยดูแลพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร